รวมพระราชดำรัสแสนประทับใจ ของ ในหลวง รัชกาลที่ 9

รวมพระราชดำรัสแสนประทับใจ ของ ในหลวง รัชกาลที่ 9

0

รวมพระราชดำรัสแสนประทับใจ ของ ในหลวง รัชกาลที่ 9

          เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้น ทรงมีพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทสำคัญหลายครั้ง ที่สำคัญ หลายประโยคเป็นพระราชดำรัสที่ตราตรึงใจประชาชนคนไทยมาจนทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไป 30-40 ปีแล้วก็ตาม

             พระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ได้คัดเฟ้นมาเหล่านี้ มาจากประชาชนคนไทย ต่างโพสต์ในสื่อต่างๆ มากมาย อันเนื่องด้วยเรื่องประเทศ ประชาชน เรื่องหน้าที่การงาน ว่าด้วยศีลธรรม พุทธศาสนา รวมไปถึงเรื่อง ศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง ด้วย 2 ปีที่พระองค์เสด็จสวรรคต คำสอนของพระองค์ยังอยู่ในใจของคนไทยทุกคน

พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9

ว่าด้วยประเทศและประชาชน
- ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง
- ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร
- ฉันถือว่า ฉันเป็นพลเมืองคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่ง ตราบใดที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้ ตราบนั้นฉันต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์
- ข้าพเจ้าทราบตระหนักว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอย่างสูง และการปฏิบัติราชการแผ่นดินนั้น เป็นภาระสำคัญใหญ่ยิ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งสติปัญญาและความรู้ความสามารถอย่างพร้อมมูล ข้าพเจ้าจะต้องเพียรพยายาม ศึกษา และปฏิบัติฝึกฝนตนเองต่อไปอีกอย่างมาก
- บ้านเมืองไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ได้โดยดี เพราะว่าจิตใจสามัคคีและแสดงออกซึ่งสามัคคี ถ้าตราบใดเรารักษาความสามัคคี ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันไว้ได้ เราก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุขตราบนั้น
- เราจะทำให้ประเทศไทยกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นได้ ขออย่าไปรังแกป่าเท่านั้นเอง
- เงิน 240,000 บาทที่หมอขอไปนั้น ฉันเอามาให้แล้ว เงินนี้ให้เธอนำไปก่อสร้างเองโดยไม่ต้องผ่านราชการ ฉันไว้ใจเธอ สร้างเสร็จ ขอให้บอกไป ฉันจะมาเปิด

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ว่าด้วยหน้าที่การงาน
- ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง
- ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ มีแต่ความสุขที่ร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น
- การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียร และความอดทนเป็นที่ตั้ง
- ในครอบครัวของเรา (ความรับผิดชอบ) เป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรก คือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร ทุกอย่างออกมา จากนั้นจะเอาหลักการต้องเป็นคนดี นี่คือหลักการ เพื่อจะช่วยอะไรได้
- ทำดีเด่นไม่ใช่อยากดีเด่น ทำได้ดีแล้วก็จะดีเด่นเอง แต่ว่าถ้าต้องการจะดังเมื่อไหร่ก็จะดังเอง แล้วดังดีด้วย ไพเราะ ไม่ใช่ดังอย่างน่ารำคาญหรือน่าเกลียด
- ผู้ใดประกอบเหตุอย่างไรเพียงใด ก็ได้ผลนั้นเพียงนั้น
- ข้าพเจ้าอยากให้ทุกคนนึกถึงกฎแห่งเหตุผลว่า ผลเกิดขึ้นเพราะเหตุ คือการกระทำ และผลนั้นจะเป็นผลดีหรือผลเสีย ก็เพราะกระทำให้ดีหรือให้เสีย
- ประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ ไม่เสเพล ไม่ปล่อยตนให้เป็นทาสแห่งอบายมุขต่างๆ ดังนี้แล้วท่านก็จะสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองและครอบครัว
- ขอให้จำไว้ว่า ใครไม่เคยถูกตีถูกทุบ ไม่เคยเจอเรื่องเลวร้ายเลยในชีวิต จงอย่าได้หาญจะคิดทำการใหญ่
- เมื่อไม่มีใครเกิดมาแล้ววิ่งได้ จึงควรทำสิ่งต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ว่าด้วย พุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
- พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผลว่า ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ผู้ใดประกอบเหตุอย่างไรเพียงใดก็ได้ผลนั้นเพียงนั้น
- คนเรานั้นถึงแม้จะมีความรู้วิเศษสักเพียงใด แต่ถ้าไม่มีศีลธรรม มีแต่ความเห็นแก่ตัวก็ย่อมจะนำความเสื่อมมาสู่ตนเอง ครอบครัว หมู่คณะ และประเทศชาติ
- คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไปและเดี๋ยวนี้ด้วย เมื่อรับสิ่งของใดมาก็จะต้องพยายามให้
- แลเห็นความลำเค็ญ เป็นประโยชน์ อันช่วงโชติ ชวลิต น่าพิศวง ตั้งจิตไว้ ไม่พรั่น ด้วยมั่นคง และอาจอง ทนงรัก ศักดิ์แห่งตน
- อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา กรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ว่าด้วยคุณธรรม
- ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น
- ความเพียรที่ถูกต้องคือ ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้บังเกิดขึ้น
- วิถีชีวิตของคนเรานั้น จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาเนืองๆ ไม่มีผู้ใดจะอยู่เป็นปกติสุขอย่างเดียวได้ ทุกคนจึงจะต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อเผชิญและป้องกันแก้ไขความไม่ปกติเดือดร้อนต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท
- คุณธรรมข้อหนึ่ง ที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ “การให้” การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใดแก่ผู้ใดโดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ ระหว่างบุคคลกับบุคคล และให้สังคม มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม
- การทำสิ่งที่ดีงามนั้นไม่ใช่ของที่พ้นสมัยหรือที่น่ากระดากอาย หากเป็นของที่ทุกคนทำได้ไม่ยาก และให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะความดีนั้นทรงค่าและทรงผลดีอยู่ตลอดกาลมิได้เปลี่ยนแปลง มีแต่ค่านิยมในความดีเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป
- แลเห็นความลำเค็ญ เป็นประโยชน์ อันช่วงโชติชวลิต น่าพิศวง ตั้งจิตไว้ ไม่พรั่น ด้วยมั่นคง และอาจองทนงรัก ศักดิ์แห่งตน ไม่ยอมลดกายใจ ให้ต่ำต้อย เพื่อจะคอยตวงตัก แม้สักหน ซึ่งยศศักดิ์อัครฐาน ศฤงคารคน หมายเทิดผลคือความดี ที่ศรัทธา

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ว่าด้วยความพอเพียง และสุขภาพ
- เรื่องแม่สอนไม่ให้เป็นหนี้ ไม่มีเงินอย่าไปซื้อของเป็นหนี้ใคร ไม่สมควร ท่านก็ถือว่าเป็นระเบียบสำคัญ ไปเป็นหนี้เป็นสินนั้นไม่ดีแม้จะเล็กน้อยมันก็พอกเข้าไป
- คนเราที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มีทางที่จะหาทรัพย์มาป้อนความฟุ้งเฟ้อได้ ความฟุ้งเฟ้อนี้เป็นปากหรือเป็นสัตว์ที่หิวไม่หยุด ความฟุ้งเฟ้อนี้อ้าปากตลอดเวลา จะป้อนไปเท่าไรๆ ก็ไม่พอ เมื่อป้อนเท่าไรๆ ไม่พอแล้ว ก็หาเท่าไรๆ ก็ไม่พอ
- ความพอเพียง คือ ความพอประมาณตามอัตภาพ พอเพียงนี้อาจจะมีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง
- ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือ พลเมือง นั่นเอง

พระราชดำรัสสุดท้าย
- ขอขอบพระทัย และขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิตพรั่งพร้อมกันมาให้พรวันเกิด รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาโดยประการต่างๆ ข้าพเจ้าขอแสดงสนองพรและไมตรีจิตนั้นด้วยใจจริงเช่นกัน บ้านเมืองของเราเป็นสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความปึกแผ่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ของชาติ คนไทยทุกคนจึงควรจะตระหนักในข้อนี้ให้มาก และตั้งใจประพฤติตัวปฏิบัติงานให้สมฐานะและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม คือ ความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมืองไทย ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้มีแต่ความสุข ความเจริญตลอดไป พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 พระราชวังไกลกังวล หัวหิน

พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่9

         "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เผยพระราชทานสุดท้ายขณะประทับที่ รพ.ศิริราช ว่าพระองค์ตรัสเป็นห่วงเรื่องงานว่า งานยังไม่เสร็จ ตายแล้วห้ามร้องไห้ เพราะเป็นของธรรมดา คนเราก็ต้องตาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสว่าสมเด็จย่าเคยรับสั่งไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments