เปิดความหมาย “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร”

เปิดความหมาย “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร”

0

เปิดความหมาย “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร”

         เปิดความหมายของ "พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร" ฉัตรสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ที่หลายคนควรรู้

          ในวันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสุดท้ายของพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และถือเป็นการเสร็จสิ้นการก่อสร้างพระเมรุมาศอย่างสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” หรืออธิบายตามภาษาชาวบ้านคือ “ฉัตร” สำหรับ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” เรียกโดยย่อว่า “พระมหาเศวตฉัตร” เป็นฉัตร 9 ชั้น

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระมหากษัตริย์

          สำหรับพระมหากษัตริย์ มีระบาย 3 ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด และมียอด เป็นราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญที่สุด ซึ่งถือเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว โดย “นพ” หมายถึง เก้า คำว่า “ปฎล” หมายถึง ชั้น คำว่า “เศวต” หมายถึง สีขาว และ “ฉัตร” หมายถึง ร่ม ดังนั้น พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หมายถึง ร่มขาว 9 ชั้น โดยมีการนำมาใช้ปักที่พระแท่นราชอาสน์ราชบัลลังก์, กางกั้นเหนือพระแท่นที่บรรทม, ปักพระยานมาศ และแขวนกางกั้นพระโกศทรงพระบรมศพ เป็นต้น แต่โบราณมาไทยถือเศวตฉัตร เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เศวตฉัตร หมายถึง ความเป็นพระราชามหากษัตริย์เช่นเดียวกับมงกุฎของชาวยุโรป ตามประเพณีของพราหมณ์แต่เดิม เป็นเศวตฉัตร 6 ชั้น หมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น ตั้งแต่ชั้นจตุมหาราชิกาจนถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ความหมายของฉัตร 9 ชั้นที่ใช้ในปัจจุบัน หมายถึง ผู้ที่ชนะทั้ง 8 ทิศ ชั้นล่างสุด หมายถึง พระมหากษัตริย์ที่จะต้องทรงแบกภาระอันใหญ่หลวงในการดูแลประชาชนทั้ง 8 ทิศ ปัจจุบัน พระมหาเศวตฉัตรแห่อยู่จำนวน 7 องค์ อันได้แก่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ท้องพระโรงกลางเหนือพระที่นั่งพุดตานถม), พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ท้องพระโรงเหนือพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก), พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน (เหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ท้องพระโรง), พระที่นั่งไพศาลทักษิณ (เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ท้องพระโรง), พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (มี 2 องค์ คือ เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์และเหนือพระแท่นเครื่องพระสำอาง) และพระที่นั่งอนันตสมาคม (ท้องพระโรงกลางเหนือพระแท่นราชบัลลังก์)

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระมหากษัตริย์

          จาการรวบรวมข้อมูลในบทความของ "คุณจริญญา บุญอมรวิทย์" ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายจัดแสดง ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ ได้อธิบายถึง “ฉัตร” ที่ใช้ในราชสำนักของไทยในปัจจุบันว่า “ฉัตร” ในราชสำนักไทยได้วิวัฒนาการรูปแบบมาจากอิทธิพลการเผยแผ่ศาสนา วัฒนธรรม คติความเชื่อ จากอินเดีย และการปกครองแบบเทวราชจากเขมร นำมาปรับรูปแบบฉัตรให้เข้ากับระเบียบแบบแผนในราชสำนัก สำหรับประกอบพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย เป็นต้น

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระมหากษัตริย์

          รูปแบบฉัตรที่ค้นพบในระยะแรกมีลักษณะใกล้เคียงกับฉัตรที่พบในประเทศอินเดีย คือ มีรูปแบบฉัตรชั้นเดียว ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ปรากฏรูปแบบฉัตรที่มีการซ้อนกันเป็นชั้น มีการประดับ ตกแต่งลวดลายเพิ่มขึ้น ใช้สำหรับแสดงหรือประดับเครื่องราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลการปกครองแบบเทวราชจากเขมร เข้ามามีบทบาทและให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์และความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ต่อมาในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการปรับเปลี่ยนวัสดุ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเศวตฉัตร (ฉัตรผ้าขาว) โดยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนจากผ้าตาดมาเป็นผ้าขาวสำหรับหุ้มเศวตฉัตร เพื่อให้ตรงกับตำราและมีความเหมาะสมสำหรับประกอบพระราชอิสริยยศ ในปัจจุบัน ราชสำนักได้กำหนดรูปแบบฉัตร แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ฉัตรสำหรับแขวนหรือปัก เป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศ, ฉัตรสำหรับตั้งในพิธีหรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ และฉัตรพิเศษสำหรับพระบรมศพ โดยรูปแบบของฉัตรในปัจจุบันแตกต่างกันในรายละเอียดส่วนประกอบฉัตร เช่น ชั้นของฉัตร ชนิดของผ้า ลวดลาย และการประดับ เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างของพระราชอิสริยยศ หรือเกียรติยศที่ได้รับ สำหรับ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” ที่จะถูกยกขึ้นติดตั้งบนยอดพระเมรุมาศในวันพรุ่งนี้ มีน้ำหนัก 80 กิโลกรัม สูง 5.10 เมตร ถูกออกแบบโดย "คุณก่อเกียรติ ทองผุด" นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร โครงสร้างฉัตรเป็นผ้าสีขาวทั้ง 9 ชั้น ซึ่งนำแบบฉัตรพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 มาเป็นต้นแบบ จัดสร้างตามแบบโบราณราชประเพณีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ซึ่งครั้งนี้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ จัดทำด้วยผ้าโทเรสีขาว มีขลิบสีทองแขวนประดับห้อยจำปา

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระมหากษัตริย์

          ส่วนยอดเป็นทรงจอมเจดีย์ ประดับด้วยบัวกลุ่ม คั่นลูกแก้ว บัวกลุ่มเชื่อมส่วนปลีปลายที่เป็นโลหะทองแดงกลึงรับเพื่อต่อสายล่อฟ้าใช้แสลนขาวพลาสติกใส่ในโครงสร้าง และช่วยให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติและกลับคืนรูป นอกจากนี้ การยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในครั้งนี้ จะแตกต่างจากการยกฉัตรครั้งที่ผ่านมา โดยจะยกในส่วนปลายยอดขึ้นไปประกอบด้านบนเท่านั้น แต่ครั้งนี้จะเป็นการยกตัวฉัตรทั้งหมด

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระมหากษัตริย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ฟิล์ม ธนภัทร” อิ่มบุญ สุขใจ ชวนแฟนคลับ ร่วมงานวันคล้ายวันเกิดอายุ 31 ปี

“ไมกี้-ญดา” เกิดเต็มตัว  ช่อง3 จัด“ดวงใจเทวพรหมสปอร์ตเดย์” 2 มิย.นี้

ด่วน! “แหลม มอริสัน” ตรวจพบเส้นเลือดสมองตีบ ซีกซ้ายไม่มีแรง

ฉันทมติคนลูกทุ่งร่วมก่อตั้ง “วันเพลงลูกทุ่งไทย”ตรงกับวันที่ 11 พ.ค. เตรียมจัดงานรำลึกบรมครูบูรพาจารย์

ไม่ว่างเถียง! “พจน์ อานนท์” ฟาดกลับชาวแซะเอาตัวเองให้รอดก่อน

“หนูนา - จูเนียร์” หวานฉ่ำครบรอบแฟนกัน 9 ปี ตีกันทุกวัน แต่ก็รักกันทุกวัน!

“มิกค์” อัปเดตมีดเฉือดนิ้วชี้เส้นเอ็นขาด ซื้อทองรับขวัญหลานลูก “ยุ้ย-ธันน์”

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments