จาก"เรยา"ถึง"เรททีวี"

จาก"เรยา"ถึง"เรททีวี"

1

       และจะมีผู้ปกครองซักกี่คนที่จะบอกลูก-หลาน ซึ่งอายุไม่ถึงเกณฑ์จะต้องดูรายการนั้นๆ ว่า ไม่ดี ผิดศีลธรรม ไม่ควรเอาเป็นทั้ง "เยี่ยง" และ "อย่าง"

ย้อนความทรงจําซักนิดน่ะครับ หวังว่าทุกคนคงจะจําได้ในช่วงรัฐบาล "ขิงแก่" ซึ่งตอนนั้น "คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์" เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกฯ เกิดอาการ "ศีลธรรมเข้าสิง" ลุกขึ้นมาจัดเรททีวี

"เรททีวี" หมายถึงการจัดความเหมาะสมของรายการกับคนดู ว่ารายการไหนเหมาะกับคนดูกลุ่มไหน? เราจึงเห็นอักษรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฉ.ท.ด.ป.อยู่ที่มุมจอ นั่นแหละครับ "มรดก" ของรัฐบาลในอดีต ที่ส่งผลมาถึงวันนี้

เท่าที่ผมจําความได้ การจัด "เรททีวี" ดังกล่าว ผู้บริหารสถานี ผู้จัดรายการ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับ "ธุรกิจทีวี" ไม่ได้เข้าไปมี "ส่วนร่วม" กําหนดกฎเกณฑ์อะไรเลย?

แต่คนที่มีบทบาทสําคัญกับการสร้างความอัปลักษณ์ครั้งนี้คือ "เอ็นจีโอ" ซึ่งไม่ได้มีความรู้กับการทํา "ธุรกิจทีวี" แต่อย่างใด แต่ทําตัวเป็น ส.เสือใส่เกือก ว่าจะต้องเป็นยังงั้นยังงี้

ผมยกตัวอย่าง "รายการเด็ก" ซึ่งปกติ สินค้าที่โฆษณา หนีไม่พ้นประเภทขนมขบเคี้ยว แต่กฎเกณฑ์ "เรททีวี" ที่บังคับใช้ครั้งนั้น ฟันโช๊ะมาเลยว่า จะต้องลดเวลาโฆษณาลง จากปกติรายการ 1 ชั่วโมงโฆษณาได้ 12 นาที ให้ลดลงเหลือ 10 นาที แถมสินค้าชนิดเดียวกันออกอากาศซ้ำเกิน 2 ครั้งไม่ได้

เจอด่านแรกก็มึนตึ้บแล้วครับ พอมาเจอข้อห้ามที่ 2 ถึงกับทําเอาผู้บริหารทีวีและผู้จัดรายการหงายท้องตึง เพราะท่านเขียนกําชับอีกว่า ห้ามใช้เด็ก ตัวการ์ตูน ดารา นักร้อง ศิลปิน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นผู้นําเสนอสินค้า พูดง่ายๆ ว่าห้ามคนเหล่านี้เป็นพรีเซนเตอร์ว่างั้นเถอะ

เจ้าของสินค้าทุกคนต้องการขายสินค้าทั้งนั้น ขณะเดียวกับรายการเด็กหรือการ์ตูน ก็ต้องการ "อยู่รอด" เมื่อมาเจอแบบนี้ จะให้ผู้ผลิตสินค้าเด็กไปลงโฆษณาในรายการจดหมายเหตุกรุงศรีฯ ยังงั้นรึ..ไม่รู้คิดได้ยังไง?

มรดกรัฐบาลชุดนั้น วันนี้ก็ยังใช้อยู่ ทุกครั้งที่เราดูทีวี เวลาเปลี่ยนรายการ จะมีภาพเสียง รายการนั้น-รายการนี้เหมาะสําหรับคนดูอายุเท่านั้น-เท่านี้ ถ้าอายุไม่ถึงผู้ปกครองจะต้องให้คําแนะนํา พร้อมกับมีตัวอักษรต่างๆ โชว์หราอยู่มุมจอ

ถามจริงๆ เถอะ มีคนดูซักกี่คนที่ "ใส่ใจ" และเข้าใจความหมายที่รัฐบาลในอดีตยัดเยียดมาให้ และจะมีผู้ปกครองซักกี่คนที่จะบอกลูก-หลาน ซึ่งอายุไม่ถึงเกณฑ์จะต้องดูรายการนั้นๆ ว่า ไม่ดี ผิดศีลธรรม ไม่ควรเอาเป็นทั้ง "เยี่ยง" และ "อย่าง"

"สื่อทีวี" คือ "สื่อสาธารณะ" ที่เปิดกว้างกับคนดูทุกเพศ ทุกวัย จะปิดหูปิดตาคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไม่ได้ เมื่อเป็นยังงี้ ก็ต้องเปิดกว้าง จะไปจํากัดด้วยการใช้ "เรททีวี" มาควบคุม เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเป็นไปได้ ก็ไม่เกิดเรื่องกรณีละคร "ดอกส้มสีทอง" หรอกครับ!!  ตามข่าวบอกว่า มีผู้ปกครองของเด็กกลุ่มหนึ่ง ไปร้องเรียนกระทรวงวัฒนธรรม ให้ระงับการออกอากาศละครเรื่อง "ดอกส้มสีทอง" เพราะเห็นว่าเนื้อหา และการแสดงออกของ "เรยา" ไม่เหมาะสม หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ปกครองเหล่านี้ อะไรที่ "เกินไป" ก็สมควรจะยั้งมือหน่อย ไม่ใช่โชว์เนื้อหนังมังสากันตลอดทั้งเรื่อง เพียงแต่ว่า ข้อเรียกร้องของท่านจะสูญเปล่า ไปไม่ถึงฝั่งฝันตามที่ต้องการเท่านั้น?

เพราะอะไร?..ตามผมมาครับ ย้อนไปอ่านข้อมูลที่ผมเขียนตอนต้น จะรู้ได้ทันทีว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะไปแตะต้อง หรือออกคําสั่งให้ผู้บริหารสถานี หรือผู้จัดละครทํายังงั้น-ยังงี้ ตามอําเภอใจได้

เนื่องจากรัฐบาลในอดีตได้สร้างกําแพง "เรททีวี" เอาไว้ ซึ่งเขาก็ปฏิบัติตามทุกกระเบียดนิ้ว มีอักษร ฉ.พร้อมกับตัวเลข +13 กํากับทุกประการ ตามระเบียบเป๊ะ ซึ่งเป็นจริงตามที่ผมพูด คือรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมได้แต่ใบ้กิน แบะๆๆ เพราะไม่สามารถจะทําอะไรได้ตามข้อเรียกร้อง  ขณะเดียวกันผู้จัดเขาก็มีสิทธิ์โดยชอบ ในเมื่อไม่ได้ทําอะไรผิดกฎเกณฑ์ "เรททีวี" จะให้เขาไปแก้บท ลดนั่น ลดนี่ลง ฝันไปเถอะ!!  ที่สําคัญ พอมีข่าวแบบนี้ขึ้นมา ไม่ต่างจากซื้อลอตเตอรี่ถูกรางวัลที่ 1 คือได้กับได้ ใครๆ ก็อยากดูลีลา "เรยา" จากคนที่ไม่เคยดู ก็ต้องมาเปิดดู "เรยา" คือใคร ทําไมถึงเล่นละครได้บาดตา-บาดใจจนเกิดปัญหา  ปกติละครเรื่องนี้เรทติ้งดีอยู่แล้ว เป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ ตั้งแต่ยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้น พอมีประเด็น "ไม่เหมาะสม" ขึ้น  เมื่อมีคนดูประจํา ผสมกับคนดูที่อยากรู้ เลยกลายเป็นดับเบิล เพิ่มอีก 1 เท่าตัว แบบนี้บรอดคาซท์ฯ ฉลองแชมป์ล่วงหน้าได้เลย

ตอนนี้ได้ข่าวแว่วๆ ว่า มีแพลนจะสร้างภาค 3 ต่อ เย้ยหยันกระทรวงวัฒนธรรมเสียเลย ทําอะไรเขาได้ ในเมื่อทําถูกต้องทุกประการ!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments