“พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตัวแปรเศรษฐกิจดิจิทัล”

“พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตัวแปรเศรษฐกิจดิจิทัล”

0

“พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตัวแปรเศรษฐกิจดิจิทัล”

       ร่างกฎหมายใหม่มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายประการ เช่น รื้อระบบการสรรหากรรมการ กสทช.ใหม่หมด ให้ศาลและองค์กรอิสระสรรหาเป็นผู้สรรหากรรมการกสทช. จากข้าราชการตำแหน่งหัวหน้ากรมขึ้นไป ทหารหรือตำรวจที่มียศพลโทขึ้นไป หรือคนที่เป็นผู้บริหารบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท โดยตัดช่องทางเสนอชื่อโดยภาคประชาสังคมออกไป  ถัดมาคือ  ยกเลิกความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. โดยกำหนดให้ กสทช. จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (Roadmap) ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล และในกรณีที่มีปัญหาว่าการทำงานของ กสทช. สอดคล้องกับแผนระดับชาติดังกล่าวหรือไม่ ให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้วินิจฉัย  แม้แต่การกำหนดให้การประมูลคลื่นความถี่ ใช้หลักเกณฑ์อื่นที่ไม่ใช่จำนวนเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจให้กรรมการกสทช. พิจารณาใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่โดยดูจากคุณสมบัติอื่นๆ ที่ตนเองถูกใจได้ หรือที่เรียกว่า Beauty Contest ก็ได้

      ขณะที่ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมมือถือในสายตาผู้บริโภค ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมยาสูบ ทั้งที่มือถือเป็นสิ่งจำเป็น  ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีส่วนหนึ่งมาจากปัญหาBill Shock จึงต้องมุ่งจัดการปัญหาค่าโรมมิ่งระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคเข้าถึงบริการมือถือเมื่อผู้บริโภคเดินทางไปต่างประเทศ รัฐบาลมักมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมมือถือสร้างรายได้เข้ารัฐและหวังให้แข่งขันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ที่สวนทางกัน จึงเรียกร้องให้พิจารณาอุตสาหกรรมมือถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล มิใช่เป็นตัวสร้างรายได้มหาศาลโดยตรง

          อนาคตของอุตสาหกรรมจะรุ่งโรจน์ เพราะประชาชนต้องใช้มือถือในชีวิตประจำวัน เสมือนหนึ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ที่ขาดไม่ได้ หลายฝ่ายเสนอจึงเสนอปฏิรูปกฏหมายโทรคมนาคมทั้งหมดให้มีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรความถี่ควรมีแผนที่ชัดเจน โปร่งใส และเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

          วงเสวนา "เนชั่น ราวด์เทเบิล" ภายใต้หัวข้อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตัวแปรเศรษฐกิจดิจิทัล ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับแก้ไข) มาร่วมแสดงความคิดเห็น   ที่จับตาคือมุมมองฝั่งที่ค้านระบบจัดสรรคลื่นโดยไม่ต้องประมูล

          นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ต้องทำให้เกิดกฎระเบียบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ชัดเจนทุกเรื่อง หากต้องการให้ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ควรทำกฎหมายให้กสทช.และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทำงานสอดประสานกันมากขึ้น มาถึงวันนี้ยังไม่เห็นกฎหมายออกมากำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ อาทิ บริการอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) อย่างผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาจะขอใบอนุญาตเพื่อทำธุรกิจไอโอทีต้องขอใบอนุญาตอะไรบ้าง ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอะไร

          ขณะเดียวกันได้ยกตัวอย่างจากงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส ที่บาเซโลน่า ประเทศสเปน มีรายงานว่าราคาคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ประมูลในไทยแพงสุดในโลก ทำให้กังวลว่า จะทำให้อุตสาหกรรมหวั่นไหว เพราะหากประเทศอื่นกำหนดให้ประมูลในราคาแพงตาม จะเกิดปัญหากับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลก

ส่วนในมุมของผู้ประกอบกิจการ

         ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นการพยายามจะเดินไปข้างหน้า เราไม่สามารถเอาคลื่นความถี่คืนมาเพื่อจัดสรรใหม่ได้ เพราะติดขัดกฎหมายฉบับเดิม และมีคลื่นจำนวนหนึ่งที่หน่วยงานรัฐใช้งานอยู่ การเรียกคืนคลื่นก็ต้องให้เจ้าของเดิมย้ายไปคลื่นอื่นแล้วต้องเสียค่าอุปกรณ์ในการย้าย จึงกำหนดให้มีค่าชดเชยเยียวยาเพื่อให้เอาไปใช้ตรงนี้ โดยหวังว่าจะปลดล็อกปัญหาที่เรามีคลื่นความถี่ไม่เพียงพอได้ แต่ในทางปฏิบัติเรื่องการจ่ายค่าชดเชยจะทำอย่างไรอยากให้เป็นงานของ กสทช. ไปคิดต่อ  เพราะกระทรวงดิจิทัลฯมีแผนที่จะดำเนินการในอนาคตให้ประเทศไทยนั้นสามารถมีอินเตอร์เน็ตใช้งานที่มีค่าบริการต่ำกว่าในปัจจุบันที่ใช้บริการอยู่ เนื่องจากคลื่นความถี่ของไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากแต่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์  ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการ ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพื่อให้เกิดการใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้เหมาะสม มีการจัดสรรนำคลื่นที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยเน้นเรื่องการบูรณาการการำงานร่วมกันและมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่จะยังคงรักษาการแข่งขันให้มีความเป็นธรรมเพื่อนำเงินเข้าสู่ภาครัฐในการสานต่อนโยบายการบริหารงานของประเทศต่อไป และเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายตามแผนแม่บทของกระทรวงดีอีเช่นกันเพื่อให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนไปได้ภายใต้กรอบข้อกฎหมาย ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.กสทช. ฉบับนี้ ดูเหมือนพยายามมองภาพอดีตและขับเคลื่อนไปข้างหน้า ภายใต้ความคิดที่ว่า เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สร้างแข่งขันอย่างเสรีระหว่างเอกชน และให้ราคาลดลงเพื่อให้ประโยชน์ผู้บริโภค

          นายรวีพันธุ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมาย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า การแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่น ความถี่ฯ ควรทำให้เกิดกฎเกณฑ์การแข่งขันที่ชัดเจนผู้ประกอบการรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไร มีกฎระเบียบที่ส่งเสริมการแข่งขัน การทำธุรกิจ มีการกำกับดูแลโดยองค์กรที่โปร่งใส ที่ผ่านมาไทยเอาคลื่นความถี่มาใช้ประโยชน์น้อยมาก สหภาพโทรคมนาคม (ไอทียู) กำหนดว่า แต่ละประเทศควรมีคลื่นความถี่ออกมาใช้งาน 1340-1960 เมกะเฮิรตซ์  แต่ประเทศไทยเอาคลื่นความถี่มาใช้เพียง  320 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ในอนาคต ควรจัดประมูลล่วงหน้าควรวิธีการประมูลมากกว่าใช้วิธีการคัดเลือกคุณสมบัติ (Beauty contest) นอกจากนี้คุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็น กสทช. ต้องไม่มี ผลประโยชน์ทับซ้อน

          ในฝั่งของผู้ประกอบการต่างค่ายอาจต้องจับมือกันหรือเปิดให้มีการใช้งานโครงข่ายร่วมกัน คล้ายคลึงกับการวางเคเบิ้ลใต้สมุทรที่เป็นการร่วมลงทุนของผู้ประกอบการหลายราย และในบางประเทศอาจมีการควบรวมค่ายมือถือเพื่อให้มีจำนวนที่เหมาะสม รัฐบาลมักมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมมือถือสร้างรายได้เข้ารัฐและมุ่งหวังให้มีการแข่งขันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ที่สวนทางกัน จึงเรียกร้องให้พิจารณาอุตสาหกรรมมือถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล มิใช่เป็นตัวสร้างรายได้มหาศาลโดยตรง จึงควรปรับอัตราค่าธรรมเนียมหรือภาระภาษีให้เหมาะสมกับสภาพอุตสาหกรรมในขณะนี้

         นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายและสื่อโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) แสดงความเห็นว่า ตามร่าง พ.ร.บ.กสทช. ใหม่ กำหนดให้ กสทช. จัดทำแผนแม่บท แต่ให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลมีอำนาจวินิจฉัยเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน เท่ากับกำลังทำลายความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ซึ่งกรณีนี้เห็นชัดเจนว่า หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ และมีผลประโยชน์ในการจัดสรรคลื่นความถี่มาโดยตลอด การให้หน่วยงานรัฐดึงอำนาจกลับไปจะเป็นปัญหา จะทำให้ กสทช. กลายสภาพเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเป็นเรื่องประโยชน์ทับซ้อน

      สำหรับประเด็นที่ ร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่ กำหนดให้ กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่โดยเอาเงินกองทุนไปจ่ายค่าชดเชยให้กับหน่วยงานที่ครอบครองคลื่นอยู่เดิม วรพจน์ เห็นว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอยู่แล้วที่จะเรียกคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐและหน่วยงานความมั่นคง โดยไม่ต้องเอาเงินไปชดเชยอะไรเลย หากจะให้มีการจ่ายเงินชดเชยก็เรียกได้ว่าเป็นการ "เสียค่าโง่" เพราะคลื่นความถี่เป็นของสาธารณะไม่ใช่ของหน่วยงานรัฐและต้องเอาคืนอยู่แล้วตามกฎหมาย เราจะต้องจ่ายกรณีเรียกคืนคลื่นจากเอกชนที่เสียเงินประมูลมาเท่านั้น ประเด็นสำคัญการกำหนดอายุของกสทช.ต้องอายุ  45  ปีเป็นการเปิดโอกาสให้กสทช.ต้องเป็นผู้สูงอายุ เป็นทหาร เป็นตำรวจ จึงจะมาเป็นกสทช.ได้ คณะกรรมการสรรหากสทช.เองร่างฯกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบกสทช.ในอนาคต จึงไม่ควรมีส่วนคัดเลือก

     นางวารินทร์ ตุลาคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักการตรวจเงิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช. ไม่มีแผนบริหารคลื่นความถี่ ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ การไม่ได้ประมูลคลื่นความถี่หน่วงหน้า ทำให้การจัดสรรคลื่น 900 และ1800 เมกะเฮิรตซ์ ทำไม่ทัน ส่งผลให้ต้องมีมาตรการเยียวยา สตง.ในฐานะองค์กรตรวจสอบต้องเข้ามาตรวจสอบและให้ความเห็น สตง.พยายามผลักดันให้เกิดแผนบริหารคลื่นความถี่ระยะยาว ที่สามารถนำไปปฎิบัติให้ได้จริง

         สำหรับที่มาของการแก้ไขกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ทั้ง 8 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่ง ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯนั้น จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของ ไทยแลนด์ 4.0 ว่า หากถ้าร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว ประเทศไทยจะเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริงหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรต่อภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทยอย่างไร และประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์หรือมีผลกระทบอย่างไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“เป็ด เชิญยิ้ม” ควง “จั๊กกะบุ๋ม” เปิดใจ! จุดธูปสาบาน ทำผิดครั้งสุดท้าย

“บอย” โพสต์คลิปแซว “เจี๊ยบ” เดินเนียนกับเด็กญี่ปุ่น? ไปเที่ยวญี่ปุ่นยังไงให้เหมือนอยู่นครสวรรค์?

เชิญเที่ยวงานและสมัครประกวดเพลงลูกทุ่ง ชุมทางดาวทองใน งานเทศกาลนมัสการปิดทอง หลวงพ่อวัดไร่ขิง ประจำปี 256719-27 เมษายน

“เต ตะวัน” ยก “เจมีไนน์” คือลูกรัก หลังโดนแซวมีลูกใหม่ “เอเอ BUS” ด้าน “นิว” เหมาะมีลูกเป็นผู้หญิง

ความฝัน 10 ปีสำเร็จแล้ว! “นิว ชัยพล” แบก “น้องทิวทัศน์” ไว้บนเป้ได้เดินป่าไปด้วยกัน

รีรันฉ่ำ! หมอชิตส่ง “ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์” ดู “เวียร์-เซฟฟานี่” รีเทิร์นความม่วน

“แน็ก ชาลี” ใจหาย “กามิน” บินกลับเกาหลี ระยะทางไม่กลัว คิดถึงแต่รอได้

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments