พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจใน "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10"

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจใน "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10"

2.5

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจใน "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10"   

พระราชสมภพ

    ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 เวลา 17.45 น. เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระนามเมื่อแรกประสูติ "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร" พระนาม "วชิราลงกรณ" นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งถวาย มาจาก "วชิรญาณ" พระนามฉายาขณะผนวชในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ "อลงกรณ์" จากพระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  

    พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

    ต่อมาเมื่อวันที่ 14 และวันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2495 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ทั้งพิธีพราหมณ์ พิธีสงฆ์ และถวายแห่กล่อม โดยประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ได้มีพระลิขิตไปถวายพระพรชัยมงคลในนามแห่งคณะสงฆ์ไทย เนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามงคลสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ด้วย  

    เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งถวายตามดวงพระชะตาว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร

การศึกษา  

    เมื่อปี พ.ศ.2499 ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ 

    ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา นับตั้งแต่ภาคแรกแห่งการศึกษาเป็นต้นไป หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบ และดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย นักเรียนที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร แบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์

    ต่อมา พ.ศ.2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย

    ทั้งนี้เมื่อนิวัติประเทศไทย ทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อปี พ.ศ.2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใน พ.ศ.2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2)  และปี พ.ศ.2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

    อีกทั้งระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2522-มกราคม พ.ศ.2523 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตร การบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบเอ เอช-1 เอช คอบรา ของบริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน 1 ชั่วโมง เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2523 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ ยู เอช-1 เอช และเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ ยู เอช-1 เอ็น ของ บริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน 249.56 ชั่วโมง เดือนกันยายน-ตุลาคม ปีเดียวกัน ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ ของกองทัพบกไทย จำนวนชั่วโมงบิน 54.50 ชั่วโมง เดือนธันวาคม 2523-กุมภาพันธ์ 2524 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Siai-Marchetti SF 260 MT จำนวนชั่วโมงบิน 172.20 ชั่วโมง เดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2524 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบ Cessna T-37 จำนวนชั่วโมงบิน 240 ชั่วโมง

สมเด็จพระยุพราช 

   เมื่อพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร"
    
ผนวช 

   เนื่องด้วยพระองค์มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 เวลา 15.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช 

    นับแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัย และสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพอยู่เสมอ ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆ ทรงเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ของทหารและตำรวจเป็นนิจ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาต่อในวิชาการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้เสด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปในการเยี่ยมราษฎร์ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ทรงสั่งสมพระประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองและราษฎร์ ดังนั้น จึงทรงปฏิบัติพระภารกิจได้เป็นผลสำเร็จลุล่วง นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

พระราชกิจทางราชการ

    ทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ เมืองเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้าย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่บริเวณ รอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ณ เขาล้าน จังหวัดตราด 

   วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2518 ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบกกระทรวงกลาโหม / วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2521 ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ / วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ / วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ / วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ / วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พระราชกิจด้านการทหาร

    ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด นับแต่เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2518 ทรงเข้าเป็นนายทหารประจำกรมข่าว ทหารบก กระทรวงกลาโหม วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2521 ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

    พระองค์ทรงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เคยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2530 พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ พระองค์ทรงพระกรุณาปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ-5 อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2537 เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทยและปวงชนชาวไทย  

   ทั้งนี้พระองค์ทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด ด้วย ซึ่งแม้เป็นพระราชภารกิจที่ต้องทรงเสี่ยงภยันตราย แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชาติชายทหาร และเป็นพระราชภารกิจเพื่อความผาสุกของพสกนิกร และเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ประสบทุกข์ยาก จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวโดยเต็มพระราชกำลัง

    เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆ อยู่เสมอ จากการที่ได้ทรงศึกษาด้านวิชาทหารมานาน ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างมาก และได้พระราชทานความรู้เหล่านั้นให้แก่ทหาร 3 เหล่าทัพ ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่นายทหาร เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ทุกข์สุขของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเทิดทูนและความจงรักภักดีแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง

พระราชกิจด้านศาสนา 

   ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงประเคนผ้าไตร ประกาศนียบัตร และพัดยศ ในการตั้งภิกษุ และ สามเณรเปรียญ เนื่องในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง พ.ศ.2551 ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2509 นอกจากนี้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่างๆ เป็นต้น

พระราชกิจด้านการศึกษา

    พระองค์ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ต่อมา โรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลคมนาคมไม่สะดวก กระทรวงศึกษาธิการได้สนองพระราชประสงค์ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 6 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ได้แก่ (1) โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา อ.ปลาปาก จ.นครพนม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1), (2) โรงเรียนมัธยมจุฑาวัชร อ.ลานกระลือ จ.กำแพงเพชร (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2), (3) โรงเรียนมัธยมวัชเรศร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี  (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3), (4) โรงเรียนมัธยมจักรีวัชร อ.รัตนภูมิ จ.สงขลา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2), (5) โรงเรียนมัธยมวัชรวีร์ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3) และ (6) โรงเรียนมัธยมบุษย์น้ำเพชร อ.เมือง จ.อุดรธานี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1)

    พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา อีกทั้ง โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรีตน์ พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆ เสมอ ทั้งนี้ด้วยน้ำพระหฤทัยที่ทรงพระเมตตาห่วงใยเยาวชนผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ปีละเป็นจำนวนมากทุกปี

    พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยาวชนในตำบลต่างๆ ทรงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เยาวชนตำบล รวมทั้งได้ทรงเป็นประธานงานวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี และทรงเป็นประธานในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามของลูกเสือและเนตรนารี และสมาชิกผู้ทำประโยชน์  

    พระองค์อุปการะเด็กกำพร้า คือ จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่ครอบครัวเสียชีวิตจากภูเขาถล่มเมื่อปี พ.ศ.2554  รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งบิดาถูกลอบสังหารจากเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทรงอุปการะจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หรือจนกว่าจะมีอาชีพสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นต้น

พระราชกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข

    เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ ถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรส จำนวน 21 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสม่ำเสมอ พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยเพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน อีกทั้งทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และเมื่อพ.ศ.2537 ทรงรับเป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น ทรงมีพระราชปณิธานในการใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน
 

พระราชกิจด้านสังคมสงเคราะห์  

    ทรงพระกรุณาห่วงใยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลน ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง โปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ร่วมกับประชาชน ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพย์ติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เพื่อให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเติบโตเป็นพลเมืองดี และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

พระราชกิจด้านการเกษตร

    ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรอันเป็นอาชีพหลักของปวงชนชาวไทยตลอดมา เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นประจำ และเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2528 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทำปุ๋ยหมักเป็นปฐมฤกษ์จากผักตบชวาและพืชอื่นๆ ณ บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิต การทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2529 ได้ทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง เมื่อพระราชทานอุปกรณ์การทำนา พันธ์ุข้าวปลูก และปุ๋ยหมักให้ข้าราชการผู้ใหญ่ไปดำเนินการสาธิตแล้ว ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธ์ุข้าวปลูกและปุ๋ยหมัก ในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีหมายกำหนดการไว้ก่อนเป็นการล่วงหน้า

    โครงการเกษตรวิชญา จังหวัดเชียงใหม่ โครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงเห็นความสำคัญของการเกษตรในประเทศไทย โดยได้รับความสนับสนุนด้านข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และด้วยตระหนักในความสำคัญของการเกษตร โครงการเกษตรวิชญา จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ ทรงมอบที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่บ้านกองแหะ หมู่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ทั้งหมด จำนวน 1,350  ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินการในลักษณะเป็นคลินิกเกษตรเพื่อใช้ในการเผยแพร่ผลงานการวิจัย และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ทางการเกษตรและพัฒนาการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2549 ได้พระราชทานชื่อใหม่ให้โครงการฯ จากชื่อเดิมคือ โครงการพัฒนาพื้นที่สวนบ้านกองแหะ จังหวัดเชียงใหม่ เป็น โครงการเกษตรวิชญา โครงการตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จังหวัดเชียงใหม่

พระราชกิจด้านการต่างประเทศ 

   พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เสมอมา ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกครั้งทรงมุ่งมั่นที่จะทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมทั้งทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตร ศึกษากิจกรรมต่างๆ ที่จะทรงนำมาเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาบ้านเมือง

    "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10" เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยตามกฎมณเฑียรบาล ตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดี ที่ 13 ตุลาคม ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 ปีพุทธศักราช 2559 ตรงกับปีวอก ที่จุลศักราช 1379 มหาศักราช 1938 ในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ศก 235  เป็นวันที่ 1 ปีที่ 1 ของรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ จะไม่ขานคำว่า "พระบาท" นำหน้าพระนาม "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" พระองค์ใหม่ จนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

    ขอ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" รัชกาลใหม่ ทรงพระเจริญ

พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฟนคลับมอบเงินและแบรนด์เนมให้ “เหมย อรทัย” รอง 4 มิสแกรนด์ไทยแลนด์2024

“เจนนี่” โพสต์ภาพคู่ “ลิลลี่” บอก “น้องยังเด็กในสายตาเสมอ” ด้านอีกฝ่านเข้ามาคอมเมนต์ตอบกลับ

“ต่าย สุวนันท์ -พงษ์ ลำเพลิน” ไลฟ์ชี้แจงหลังลาออกจากคณะหมอลำใจเกินร้อย  “บอย ศิริชัย” ถึงกับมาคอมเมนต์

“ฟ้อนด์ BNK48” จัดงานจับมือครั้งสุดท้าย ขอบคุณทุกคนที่ตามกันมาตลอด 6 ปี

“เบลล่า ราณี” ในอ้อมกอดคุณยายน่ารักมาก

“โยเกิร์ต” เผย “ลิซ่า” ส่งข้อความให้กำลังใจ ลั่นไม่เสียดายจบรัก 12 ปี เพราะเต็มที่ทุกสเต็ป

คุณนายขมิ้น “กามิน” กลับบ้านแล้ว ครอบครัว “แน็ก ชาลี”  พร้อมใจส่งที่สนามบิน

Gallery ที่เกี่ยวข้อง

Comments